| | |
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับ EF
โครงการพยากรณ์ EF เด็กปฐมวัย ได้เก็บข้อมูลเด็กปฐมวัยจำนวนประมาณ 2,000 คนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วทั้งจังหวัดลพบุรี และได้นำข้อมูลที่เก็บได้มาเชื่อมโยงกับผลการประเมิน EF ของเด็กกลุ่มเดียวกันที่ดำเนินงานโดยศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์, สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล, มหาวิทยาลัยมหิดล
ผลลัพธ์ที่ได้มีดังนี้:
ภาพรวมการกระจายตัวของผล EF
ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์, สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล, มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประเมินระดับพัฒนาการ EF เด็กกลุ่มเดียวกับที่เก็บข้อมูล โดยได้ใช้แบบทำสอบ 2 ชุด ได้แก่ 1) MU.EF-101 ประเมินพัฒนาการ EF และ 2) MU.EF-102 ประเมินปัญหาพฤติกรรม EF โดยแต่ละแบบได้ผลภาพรวมดังนี้
จะเห็นว่าสำหรับการประเมินพัฒนาการ EF (EF101) เด็กเกือบครึ่งได้คะแนนขั้นดีมาก ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินปัญหาพัฒนาการ EF (EF102) ที่พบว่าเด็กที่เริ่มมีปัญหาหรือมีปัญหามาก รวมกัน 15-20% ของเด็กทั้งหมด
ถัดไปเป็นผลการหาระดับความสัมพันธ์ (Correlations) ระหว่างปัจจัยต่างๆ กับผล EF
ด้านการหยุด การยับยั้ง (Inhibitory control - INH)
คือการยับยั้งพฤติกรรมตนเองไม่ให้หุนหันพลันแล่น หยุดคิดก่อนทำ หยุดพฤติกรรมที่รบกวนผู้อื่นหรือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน รวมถึงการยับยั้งความคิดไม่ให้คิดเรื่อยเปื่อยในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้อง ควบคุมความคิดให้มีสมาธิจดจ่อในเรื่องที่กำลังทำ
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากกับเด็กที่มี INH สูง:
- ลำดับที่ 1: ความถี่ที่ให้เด็กช่วยเหลือตนเองหรือช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ r=0.0915
- ลำดับที่ 2: ผู้เลี้ยงดูหลักเป็นพ่อแม่ทั้งคู่ r=0.0840
- ลำดับที่ 3: ความถี่ในการอ่านนิทานให้เด็กฟัง r=0.0785
- ลำดับที่ 4: การไม่มีโรคประจำตัว r=0.0702
- ลำดับที่ 5: ขับถ่ายได้ทุกวันปกติ r=0.0648
- ลำดับที่ 6: ระยะเวลาต่อวันที่เด็กเล่นอย่างอิสระโดยไม่รวมหน้าจอ r=0.0577
- ลำดับที่ 7: ความถี่ในการเล่านิทานให้เด็กฟัง r=0.0575
จะเห็นว่าหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากกับการที่เด็กมี INH สูง เป็นปัจจัยที่พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูสามารถควบคุมได้ เช่น การให้เด็กช่วยเหลือตนเองหรือช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ การอ่านนิทานให้ฟังบ่อยๆ การพยายามดูแลให้กินอาหารและขับถ่ายให้ได้ทุกวันตรงเวลา รวมทั้งส่งเสริมให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระแบบที่ไม่ใช่การเล่นบนหน้าจอ
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากกับเด็กที่มีปัญหาด้าน INH:
- ลำดับที่ 1: พ่อแม่หย่าร้าง หรือเสียชีวิต r=0.0753
- ลำดับที่ 2: ผู้เลี้ยงดูหลักเป็นญาติหรือคนอื่น r=0.0726
- ลำดับที่ 3: เป็นลูกคนแรก r=0.0725
- ลำดับที่ 4: ระยะเวลาต่อวันที่เด็กอยู่บนหน้าจอ r=0.0683
- ลำดับที่ 5: เด็กมีลักษณะปรับตัวยากเป็นลักษณะเด่น r=0.0662
- ลำดับที่ 6: ลงโทษด้วยการตี r=0.0625
- ลำดับที่ 7: ความถี่ในการอ่านนิทานให้เด็กฟัง r=0.0529
จะเห็นว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากกับการที่เด็กมีปัญหาพัฒนาการ EF หลายปัจจัยพ่อแม่ควบคุมได้ เช่น การที่ผู้ดูแลหลักไม่ใช่พ่อแม่ (ฝากลูกให้ญาติเลี้ยง) ระยะเวลาที่เด็กเล่นบนหน้าจอ การสอนและลงโทษด้วยการตี ไปจนถึงการขับถ่ายไม่ปกติ (สองวันครั้ง) ปัจจัยเหล่านี้ถ้าพ่อแม่พยายามเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไข ก็มีโอกาสที่จะลดปัญหาพัฒนาการ EF ได้
สังเกตว่าพบปัจจัยด้านดี แต่กลับเกี่ยวข้องกับปัญหา EF เช่น การอ่านนิทานและการเล่านิทาน รวมถึงระยะเวลานอนกลางคืนที่ดูเหมือนยิ่งมากยิ่งจะเกี่ยวข้องมากกับปัญหา EF สาเหตุที่ได้ผลลัพธ์เช่นนี้เป็นได้หลากหลายและยากที่จะรู้ได้ชัดเจน เช่น ประเภทของเรื่องเล่าหรือนิทานที่อ่านให้ฟัง ถ้าไม่เหมาะสมก็อาจมีผลลบได้ หรือการนอนมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียแทนที่จะเป็นผลดีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่องการอ่านและเล่านิทาน ไปมีความสัมพันธ์ทางบวกกับพัฒนาการ EF ในอีกหลายตัวชี้วัด ประกอบกับความรู้ทางวิชาการที่ล้วนระบุตรงกันว่าการอ่านและเล่านิทานส่งผลต่อ EF ในทางบวก ดังนั้น ผู้อ่านจึงไม่ควรนำข้อมูลที่ผิดปกตินี้ไปปฏิบัติในทางที่หลีกเลี่ยงหรือลดการอ่านและการเล่านิทาน
อีกข้อสังเกต คือระดับความสัมพันธ์ชี้วัดโดย Pearson correlation coefficient มีค่าไม่มากนัก แม้ในปัจจัยที่มีระดับความสัมพันธ์สูงสุดกับ INH ก็มี r เพียง 0.0753 จากค่าสูงสุดคือ 1 บ่งชี้ว่าไม่ได้มีปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเป็นตัวบ่งชี้ EF ที่ดี แต่เกิดจากการรวมตัวของหลายๆ ปัจจัยเข้าด้วยกัน
สำหรับมิติอื่นๆ ของ EF มีระดับความสัมพันธ์ร่วมกับปัจจัยต่างๆ ในลักษณะใกล้เคียงกันกับ INH โดยมีข้อมูลดังต่อไปนี้
ด้านการเปลี่ยนความคิด (Shift - SHF)
คือการเปลี่ยนความคิดไม่ให้ยึดติดความคิดเดียว รู้จักเปลี่ยนมุมมองคิดนอกกรอบได้ สามารถทำงานหลายอย่างสลับไปมาได้ การเปลี่ยนความคิดได้จะพัฒนาช้ากว่าความจำขณะทำงานและการยับยั้งพฤติกรรม
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากกับเด็กที่มี SHF สูง:
- ลำดับที่ 1: ผู้เลี้ยงดูหลักเป็นพ่อแม่ทั้งคู่ r=0.0719
- ลำดับที่ 2: ระยะเวลาต่อวันที่เด็กเล่นอย่างอิสระโดยไม่รวมหน้าจอ r=0.0694
- ลำดับที่ 3: เด็กมีลักษณะร่าเริงแจ่มใสเป็นลักษณะเด่น r=0.0569
- ลำดับที่ 4: การไม่มีโรคประจำตัว r=0.0551
- ลำดับที่ 5: มีน้ำหนักเทียบส่วนสูงสมส่วนปกติ r=0.0544
- ลำดับที่ 6: ความถี่ที่ให้เด็กช่วยเหลือตนเองหรือช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ r=0.0522
- ลำดับที่ 7: ไม่เคยประสบอุบัติเหคุหนักหรือเจ็บป่วยร้ายแรง r=0.0441
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากกับเด็กที่มีปัญหาด้าน SHF:
- ลำดับที่ 1: ความถี่ในการอ่านนิทานให้เด็กฟัง r=0.1387
- ลำดับที่ 2: ความถี่ในการเล่านิทานให้เด็กฟัง r=0.1223
- ลำดับที่ 3: ระยะเวลานอนตอนกลางคืน r=0.1008
- ลำดับที่ 4: ขับถ่ายสามวันต่อครั้ง หรือนานกว่านั้น r=0.0614
- ลำดับที่ 5: เลี้ยงดูแบบปกป้องเป็นหลัก r=0.0505
- ลำดับที่ 6: ระยะเวลาต่อวันที่เด็กอยู่บนหน้าจอ r=0.0503
- ลำดับที่ 7: ความถี่ที่ผู้เลี้ยงดูเล่นกับเด็ก r=0.0486
ด้านการควบคุมอารมณ์ (Emotional control - EC)
คือความสามารถในการควบคุมอารมณ์ให้แสดงออกอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากกับเด็กที่มี EC สูง:
- ลำดับที่ 1: ความถี่ที่ให้เด็กช่วยเหลือตนเองหรือช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ r=0.0952
- ลำดับที่ 2: เด็กมีลักษณะร่าเริงแจ่มใสเป็นลักษณะเด่น r=0.0807
- ลำดับที่ 3: ผู้เลี้ยงดูหลักเป็นพ่อแม่ทั้งคู่ r=0.0768
- ลำดับที่ 4: การไม่มีโรคประจำตัว r=0.0741
- ลำดับที่ 5: ความถี่ในการเล่านิทานให้เด็กฟัง r=0.0700
- ลำดับที่ 6: ขับถ่ายได้ทุกวันปกติ r=0.0670
- ลำดับที่ 7: มีน้ำหนักเทียบส่วนสูงสมส่วนปกติ r=0.0661
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากกับเด็กที่มีปัญหาด้าน EC:
- ลำดับที่ 1: ความถี่ในการอ่านนิทานให้เด็กฟัง r=0.1083
- ลำดับที่ 2: ความถี่ในการเล่านิทานให้เด็กฟัง r=0.0944
- ลำดับที่ 3: เด็กมีลักษณะปรับตัวยากเป็นลักษณะเด่น r=0.0740
- ลำดับที่ 4: ขับถ่ายสองวันครั้ง r=0.0664
- ลำดับที่ 5: ระยะเวลานอนตอนกลางคืน r=0.0654
- ลำดับที่ 6: เป็นลูกคนแรก r=0.0509
- ลำดับที่ 7: ขับถ่ายสามวันต่อครั้ง หรือนานกว่านั้น r=0.0504
ด้านความจำขณะทำงาน (Working Memory - WM)
คือความสามารถในการจำข้อมูลไว้ในใจและจัดการกับข้อมูลเหล่านั้น หรือการนำข้อมูลที่เก็บไว้ในใจมาใช้ในการคิดแก้ปัญหา จำเป็นต้องอาศัยการมีความตั้งใจจดจ่อ (Attention) เป็นพื้นฐานสำคัญ
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากกับเด็กที่มี WM สูง:
- ลำดับที่ 1: ผู้เลี้ยงดูหลักเป็นพ่อแม่ทั้งคู่ r=0.1165
- ลำดับที่ 2: ความถี่ในการเล่านิทานให้เด็กฟัง r=0.1161
- ลำดับที่ 3: ความถี่ในการอ่านนิทานให้เด็กฟัง r=0.1129
- ลำดับที่ 4: ความถี่ที่ให้เด็กช่วยเหลือตนเองหรือช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ r=0.1115
- ลำดับที่ 5: พ่อแม่อยู่ด้วยกัน r=0.0705
- ลำดับที่ 6: มีน้ำหนักเทียบส่วนสูงสมส่วนปกติ r=0.0700
- ลำดับที่ 7: อายุของเด็ก r=0.0681
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากกับเด็กที่มีปัญหาด้าน WM:
- ลำดับที่ 1: ขับถ่ายสองวันครั้ง r=0.0900
- ลำดับที่ 2: ระยะเวลาต่อวันที่เด็กอยู่บนหน้าจอ r=0.0781
- ลำดับที่ 3: เด็กมีลักษณะปรับตัวยากเป็นลักษณะเด่น r=0.0670
- ลำดับที่ 4: ระยะเวลานอนตอนกลางคืน r=0.0579
- ลำดับที่ 5: พ่อแม่หย่าร้าง หรือเสียชีวิต r=0.0555
- ลำดับที่ 6: เป็นลูกคนแรก r=0.0421
- ลำดับที่ 7: มีน้ำหนักเทียบส่วนสูงค่อนข้างผอม r=0.0414
ด้านการวางแผนจัดการ (Plan/Organise - PO)
คือการวางแผนจัดการงานให้เสร็จ ตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย จัดลำดับความสำคัญของงาน เริ่มต้นลงมือทำ การไม่ติดกับปัญหาเล็กน้อยจนลืมภาพรวมของงาน การคาดการณ์ผลของการกระทำ การติดตามสะท้อนผลจากการกระทำเพื่อปรับปรุงงานให้ดีขึ้น
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากกับเด็กที่มี PO สูง:
- ลำดับที่ 1: ผู้เลี้ยงดูหลักเป็นพ่อแม่ทั้งคู่ r=0.0967
- ลำดับที่ 2: ความถี่ในการอ่านนิทานให้เด็กฟัง r=0.0901
- ลำดับที่ 3: ความถี่ที่ให้เด็กช่วยเหลือตนเองหรือช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ r=0.0819
- ลำดับที่ 4: ความถี่ในการเล่านิทานให้เด็กฟัง r=0.0774
- ลำดับที่ 5: ขับถ่ายได้ทุกวันปกติ r=0.0730
- ลำดับที่ 6: เด็กมีลักษณะร่าเริงแจ่มใสเป็นลักษณะเด่น r=0.0637
- ลำดับที่ 7: ผู้เลี้ยงดูหลักมีอาชีพเป็นข้าราชการ r=0.0597
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากกับเด็กที่มีปัญหาด้าน PO:
- ลำดับที่ 1: มีน้ำหนักเทียบส่วนสูงที่ผอม r=0.0686
- ลำดับที่ 2: ขับถ่ายสองวันครั้ง r=0.0648
- ลำดับที่ 3: ระยะเวลาต่อวันที่เด็กอยู่บนหน้าจอ r=0.0583
- ลำดับที่ 4: ผู้เลี้ยงดูหลักเป็นญาติหรือคนอื่น r=0.0568
- ลำดับที่ 5: เป็นเพศหญิง r=0.0537
- ลำดับที่ 6: เป็นลูกคนแรก r=0.0530
- ลำดับที่ 7: เด็กมีลักษณะปรับตัวยากเป็นลักษณะเด่น r=0.0511
ย้อนกลับไปหน้าแรก